วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บันทึกของปิ่นโต

395 ปี บันทึกของปินโต หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย
บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) เรื่อง “Pérégrinação”ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปีค.ศ.1614 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนานโดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าหนังสือฉบับนี้มีสถานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเป็นเพียงนิยายผจญภัย
Pérégrinação หรือ Pérégrinaçam” แปลว่า “long tour,long travels” ตรงกับคำว่า “Peregrination“ หรือ “Pilgrimage” หมายถึง การเดินทางการท่องเที่ยว หรือการเดินทางแสวงบุญ
เมื่อแบร์นารด์ ฟิกูอิเยร์(Bernard Figuier) แปลงานเขียนของปินโตเป็นภาษาฝรั่งเศสในค.ศ. 1628 เขาใช้ชื่อ ว่า “les voyages adventureux de fernando mendez pinto 1537-1558” และมีชื่อภาษาอังกฤษโดยการแปลของเฮนรี โคแกนว่า “The Voyages and Adventures of Fernand Mendez Pinto” (1653)
อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์และผู้อ่านจำนวนไม่น้อยกลับมีความสงสัยต่อความเก่งกล้าสามารถของปินโต บางคนประนามว่างานเขียนของเขาเป็นเรื่องโกหกเพื่อความมีชื่อเสียงของตน แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองก็ยังนำชื่อของเขาไปล้อเลียนว่า “ Fernâo , Mendez? Pinto!(Fernâo, do you lie? Yes, I lie!” ทั้งๆที่ปินโตไม่เคยระบุว่า “Pérégrinação” เป็นนิยายประโลมโลก ( Fiction) แต่กลับบอกว่า บันทึกของเขาเปรียบเป็น “ตำรา”ในการสำรวจดินแดนและการเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆในโลกตะวันออก ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวทางศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบันทึกฉบับนี้
ประวัติของปินโต
ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน
ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583
ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) นักประวัติศาสตร์บางคนนำหลักฐานของฝ่ายไทยเข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือใน เอกสารของเขาหลายประเด็น และชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของศักราชที่เขาอ้างถึง
หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship
ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) นักประวัติศาสตร์บางคนนำหลักฐานของฝ่ายไทยเข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือในเอกสารของเขาหลายประเด็น และชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของศักราชที่เขาอ้างถึง
หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship
รูปแบบการนำเสนอ
งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง เป็นต้น
จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ “Pérégrinação” อย่างไม่อาจมองข้ามได้ งานของปินโตจึงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยๆฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1628 ก็ถูกอ้างอิงโดยซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de Laloubère) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกล่าวถึงจำนวนเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าการเข้ามาของตน เป็นที่น่าสงสัยว่าหากลาลูแบร์เคยได้ยินการเสียดสีงานเขียนของปินโตมาบ้างก่อนที่จะเดินทางเข้ามาสยาม เขาควรจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานจากผู้รู้พื้นเมืองชาวสยามอีกครั้ง ก่อนจะตีพิมพ์งานเขียนของตนที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปีค.ศ.1714 เพราะงานเขียนของปินโตเคยถูกล้อเลียนมาแล้วอย่างอื้อฉาว แต่กลับไม่ปรากฏข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์
คุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาททางการทหารของชุมชนโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546) เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า “ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”
เอกสารอ้างอิง
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2523. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา.
นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาคม พัฒิยะ. 2525. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2536. ขุนนางอยุธยา.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2550. กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม1.
วิชาการ. กรม . 2531. 470 ปีสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและโปรตุเกส.
ศิลปากร. กรม. 2536. การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ.1537-1558.
สันต์ ท. โกมลบุตร(แปล). 2510.จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1.
สุเนตร ชุตินทรานนท์. 2538. บุเรงนองกะยอดินนรธา.
Campos, Joaquim de. 1959. “Early Portuguese accounts of Thailand” Journal of The Siam
Society Volume VII.
Cogan, Henry. trans. 1653. The Voyages and Adventures of Fernand Mendez Pinto.
Collins, The. 1987. English Portuguese Portuguese English Dictionary.
Hutchinson, E.W. 1940. Adventurers in Siam in the Seventeen Century.
Wood, W.A.R. 1959 . “Fernão Mendez Pinto’s Account of Events in Siam” Journal of The
Siam Society Volume VII.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น